การยึดเมืองไซง่อน (17 กุมภาพันธ์ 1859) ของ การปิดล้อมไซ่ง่อน

พลเรือเอก ชาลส์ ริโก เดอ เยนูลี (ค.ศ. 1807–73)การยึดเมืองไซ่ง่อนของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1859

เนื่องด้วยตระหนักดีว่าทหารที่ประจำการอยู่ที่เมืองทูฮานไม่สามารถทำประโยชน์ใด ๆ ริโก เดอ เยนูลีจึงตัดสินใจที่จะตีเมืองอื่นในเวียดนาม เขาพิจารณาและปฏิเสธความคิดที่จะยกพลขึ้นบกที่เมืองตังเกี๋ย และในเดือนมกราคม ปี 1850 เขาก็เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงนาวีที่จะยกพลขึ้นบกที่เมืองไซง่อนแห่งภูมิภาคโคชินจีน เมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในระดับสำคัญ เนื่องจากเป็นเหล่งอาหารของกองทัพเวียดนาม ข้อเสนอได้รับการอนุมัติ และในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยปล่อยเมืองทูฮานให้อยู่ใต้การควบคุมของร้อยเอกโตยงกับทหารประจำการอีกเล็กน้อยและเรือปืนอีกสองลำ รีโก เดอ เยนูลีล่องเรือไปทางใต้ของไซ่ง่อน กองเรือของเขาประกอบด้วยเรือคอร์เวตฟลีจิตง และพริโมเกต์, เรือปืนอลาร์ม อาวาลอนช์ และดรากอน , เรือเอล คาโน ที่สเปนส่งมาช่วย และเรือขนส่งโซว์น ดูฮองซ์ และเมิร์ธ[6]

ริโก เดอ เยนูลีหยุดพักที่อ่าวคามรานเพื่อรอเรือเสบียงสี่ลำที่จะเข้ามาร่วมการบุก และได้วันที่ 9 กุมภาพันธ์ เขาก็กลับมาเดินทางต่อ ในวันที่ 10 กองเรือพันธมิตรระดมยิงปืนใหญ่ใส่ป้อมปราการที่ป้องกันท่าจอดเรือที่อยู่ลึกเข้าไปในแหลมแซงแชค (หวุงต่าว) และสักพักเสียงปืนใหญ่ก็ซาลง ต่อมากองร้อยเบิกทาง ซึ่งประกอบไปด้วยกองกำลังผสมระหว่างทหารฝรั่งเศสและสเปน ที่อยู่ภายใต้การนำของร้อยเอกเรนอด์ ก็ยกพลขึ้นบกและบุกยึดป้อมปราการ[7]

เมื่อมาถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ การเดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำเป็นเวลาห้าวันก็เริ่มต้นขึ้น เรือขนส่งและสัมภาระถูกทิ้งไว้ที่แหลมแซงแชค เรือปืนดรากอนนำหน้าไปก่อน ตามด้วยเรือปืนสองลำ, เรือคอร์เวตสองลำ และเรือที่สเปนส่งมาช่วย กองร้อยเบิกทางประกอบด้วยทหารราบนาวิกโยธินสามกองร้อยและทหารสเปนอีกสองกองร้อย รวมทั้งหมดมี 2,000 นาย ถูกกระจายไปยังเรือลำต่าง ๆ ที่พ่วงมากับกองเรือ กองเรือพันธมิตรเคลื่อนทัพไปข้างหน้าอย่างระมัดระวังเมื่อไม่รู้กระแสทิศทางน้ำ และเมื่อตกค่ำ ก็ทอดสมอกลางแม่น้ำ ระหว่างการเดินทาง เรือของฝรั่งเศสและสเปนต้องหยุดเพื่อระดมยิงป้อมริมแม่น้ำหกป้อม และหมู่ทหารช่างภายใต้บังคับบัญชาของทหารช่างเอกแกลลิมาร์ด ถูกปล่อยขึ้นบกเพื่อเผารั้วไม้ที่เชื่อมป้อมปราการเข้าไว้ด้วยกัน ฝ่ายเวียดนามป้องกันตนเองอย่างแข็งขัน เรือดรากอนถูกกระสุนปืนใหญ่ยิงใส่สามนัด ในขณะที่อวาลอนช์โดนเจ็ดนัด ผู้รุกรานจัดการให้แน่ใจว่าแม่น้ำจะไม่ถูกปิดล้อมจากด้านหลัง หลังจากที่แต่ละป้อมถูกยึดแล้ว ปืนใหญ่ของป้อมจะถูกอุดหรือไม่ก็ถูกนำขึ้นเรือ[8]

ป้อมปราการแห่งไซ่ง่อน สร้างโดยชาวฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1790

ในตอนเย็นของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ กองเรือที่มีเรือพริฌองเพิ่มเข้ามาก็เข้ามาใกล้ป้อมปราการสองป้อมที่ถูกสร้างโดยทหารช่างชาวฝรั่งเศสของจักรพรรดิเจี้ยหลง ป้อมทั้งสองทำหน้าที่ป้องกันไซง่อนจากทางทิศใต้ ในตอนกลางคืน ก็มีการส่งกองกำลังติดอาวุธไปทำลายทำนบที่สร้างมาจากเรือที่ถูกต่อเข้าไว้ด้วยกันและถูกยัดระเบิดไว้ ในรุ่งสางของวันที่ 16 เรือฟลีจิตง, พริโมเกต์, อลาร์ม และอาวาลอนช์ทอดสมอห่างจากป้อมปราการไป 800 เมตร ช่องแคบนั้นแคบมากเสียจนพลเรือเอก ชาร์เน่ที่อยู่บนสะพานเรือสามารถตะโกนสั่งกัปตันของเรือลำอื่น ๆ ได้ ในขณะที่เรือพรีฌอง, ดรากอนและเอล คาโนตามหลังมาไม่ห่าง[9]

กองเรือพันธมิตรเปิดฉากยิงใส่ป้อมปราการของฝ่ายเวียดนาม และภายในเวลาไม่นานก็หาระยะยิงได้ พลแม่นปืนแห่งกองทหารราบนาวิกโยธินสังหารพลปืนของเวียดนามจากเสาเรือของฝรั่งเศสและสเปน ฝ่ายเวียดนามตอบโต้อย่างดุเดือด แต่การเล็งของพวกเขานั้นไม่แม่น และในไม่ช้าฝ่ายฝรั่งเศสและสเปนก็สามารถสยบการยิงของอีกฝ่ายได้ กองร้อยเบิกทางถูกส่งขึ้นบกมาเพื่อบุกยึดป้อมปราการ จนถึงเวลา 8 นาฬิกา ก็สามารถทำให้ป้อมทั้งสองอยู่ภายใต้การควบคุมของสเปน[10]

ต่อมาในวันเดียวกัน นาวาโทเบอร์นาร์ด ฌองกีเบรี อนาคตนายพลเรือและรัฐมนตรีกระทรวงนาวีของฝรั่งเศส ออกไปดูลาดเลาป้อมปราการไซ่ง่อนโดยแล่นเรืออาวาลอนช์ไป ในเช้าของวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ฝ่ายฝรั่งเศสและสเปนสามารถยกพลขึ้นฝั่งและบุกยึดป้อมปราการได้ จ่าสิบเอกดีพัลเลียร์แห่งทหารราบนาวิกโยธินเป็นคนแรกที่บุกเข้าไปในป้อมปราการ และเมื่อฝ่ายพันธมิตรสามารถเข้าไป ทหารเวียดนามจึงจำต้องล่าถอยไป กองกำลังทหารเวียดนามประมาณ 1,000 นายพยายามที่จะโจมตีตอบโต้ พลเรือเอก ชาร์เน่ ซึ่งเข้าร่วมรบโดยตรง ตีโต้กลับไปด้วยทหารฟิลิปปินส์ของพันเอกลันซาโรเต จนกระทั่งเวลา 10 นาฬิกา ธงชาติฝรั่งเศสและสเปนก็ถูกชักขึ้นสู่ยอดเสาของป้อมปราการ[11]

ใกล้เคียง

การปิดล้อม (ยุทธวิธีควบคุมฝูงชน) การปิดกั้นเบอร์ลิน การปิดการเข้าถึงวิกิพีเดียในประเทศตุรกี พ.ศ. 2560 การปิดบริการของรัฐบาลกลางแห่งสหรัฐ พ.ศ. 2556 การปิดล้อมไซ่ง่อน การปิดน่านฟ้าทั่วยุโรปจากการปะทุของเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ พ.ศ. 2553 การปิดประเทศอินเดียเนื่องด้วยการระบาดทั่วของโควิด-19 การปิดเมืองอู่ฮั่นเนื่องด้วยการระบาดทั่วของโควิด-19 การปิดสถานี การปิดอิตาลี พ.ศ. 2563